การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชนเพื่อการดำรงอยู่ร่วมกันของผู้คนในตำบลเกตรี จังหวัดสตูล ปี 1

ประวัติศาสตร์ชุมชนเกตรีฉบับสภาเยาวชน

“บูเกตตรี หรือบูเก็ตบุตรี เป็นภาษามลายู บูเกตแปลว่าภูเขา ส่วนตรีหรือว่าตารี แปลว่าผู้หญิง รวมแล้วจึงแปลว่าภูเขาผู้หญิง หรือ เขาพระนางที่นอนตะแคงหันหน้าไปทางทิศตะวันออก นานวันเข้า จากบูเกตตรี ก็ค่อยเพี้ยนเหลือแค่เกตรี ส่วนประวัติหมู่บ้าน หมู่ที่ 1 ชื่อว่าบ้านไร่ เพราะเมื่อก่อนคนจากฝั่งเหนือลงมาปักหลักทำไร่พลู จึงได้ชื่อว่าบ้านไร่ หมู่ที่ 2 ชื่อว่าบ้านกานิ กานิเป็นภาษามลายูแปลว่าต้นชะมวง ซึ่งในบ้านกานิจะมีบ้านย่อยอีก 3 บ้าน คือบ้านโคกยัก บ้านหัวหย๋อ บ้านเกตรีเหนือ

บ้านโคกยักเรียกตามลักษณะพื้นที่กับลักษณะคนในชุมชนที่มีคนตัวใหญ่มากคล้ายกับยักษ์ รวมกับภูมิประเทศที่เป็นโคกหรือเนินสูง จึงได้ชื่อว่าบ้านโคกยัก ต่อมาคือบ้านหัวหย๋อ หัวหย๋อในภาษามลายูแปลว่ามะพร้าว สมัยก่อนที่ตรงนี้มีมะพร้าวเยอะมากจึงตั้งชื่อบ้านตามต้นไม้ในพื้นที่ ส่วนบ้านเกตรีเหนือ ตั้งอยู่ใกล้กับเขาเกตรี และตั้งอยู่ทางทิศเหนือ จึงได้ชื่อว่าบ้านตรีเหนือ แต่คนปัจจุบันก็จะเรียกว่าบ้านเกตรีเฉยๆ” 

อัพดอล พงศ์สวัสดิ์ สมาชิกสภาเด็กและเยาวชนตำบลเกตรี ผู้ที่สนใจการต่อยมวยมากกว่าสิ่งอื่นใด แต่กลับอธิบายประวัติศาสตร์ชุมชนได้อย่างแม่นยำ แม้ชายหนุ่มจะไม่ถนัดกับงานลักษณะนี้ แต่เมื่อถึงเวลาที่ต้องมารับผิดชอบ โครงการศึกษาประวัติศาสตร์ตำบลเกตรีเพื่อการดำรงอยู่รวมกันของผู้คนในตำบลเกตรี อำเภอเมือง จังหวัดสตูล เต็มตัว อัพดอลก็ทำมันได้อย่างดีด้วยความตั้งใจ

“ผมน่าจะอยู่รุ่น 1.5 เพราะเข้ามาในช่วงคาบเกี่ยวระหว่างรุ่นแรกกับรุ่นสอง ระหว่างที่พี่ๆ มานั่งประชุมกันทุกคืน ผมก็จะมานั่งอยู่ในวงนั้นด้วย นั่งฟังเฉยๆ นั่นแหละ ต่อมาพี่ๆ เขาก็มาชวนผมให้ช่วยทำงาน พอพี่ๆ ต้องออกไปเรียนมหาวิทยาลัยที่ต่างจังหวัด ผมจึงต้องรับช่วงต่อเพราะมันก็เหมือนกับเป็นความรับผิดชอบของผม

ก่อนที่พี่ๆ จะไป เขายังมาบอกว่า ‘อับดอล ฝากด้วยนะ’ ฝากอยู่นั่นแหละ คือแม้ว่าพี่ๆ เขาจะออกไปเรียนต่อก็ยังไม่ทิ้งโครงการ ไม่ปล่อยไปเลย ยังมากระตุ้นให้เราเข้าไปทำโครงการด้วย คอยโทรมาถามว่าถึงไหนแล้ว ในเมื่อโครงการนี้กลายเป็นความรับผิดชอบของผมแล้วก็ต้องทำต่อ เอาให้สุดเลย โครงการจะไปหยุดที่ตรงไหนก็ไม่รู้แหละ” อัพดอลเล่า

ราด้า-ราฎา กรมเมือง พี่เลี้ยงโครงการเยาวชน ในฐานะผู้ถูกอ้างอิงอธิบายว่า เหตุผลที่ต้องคอยกระตุ้น และชวนเด็กๆ เข้าร่วมในโครงการ ก็เพราะอยากสร้างความภาคภูมิใจให้กับเด็กในชุมชน ให้เขามีส่วนในการทำงานเพื่อส่วนร่วม และยกระดับการทำงานของสภาเด็กและเยาวชนให้มากขึ้น

“สิ่งที่คิดว่าประสบความสำเร็จอย่างหนึ่งในวันนี้คือ เราสร้างความภาคภูมิใจให้กับแกนนำชุดแรก ถ้าเขาไม่เห็นความสำคัญของงานที่เริ่มต้นไว้ เขาคงทิ้งไปแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่มันที่เห็นได้ชัดเจนคือ เขาไปเรียนแล้วเขายังไม่ทิ้ง ยังห่วง รู้สึกว่าต้องทำต่อ เขาบอกเองว่าอยากให้คนมาสานต่อสิ่งที่เขาได้ทำไว้” ราด้าอธิบาย

อย่างไรก็ตาม ลำพังอัพดอลคนเดียวคงทให้งานเดินหน้าไม่ได้ เขาจำเป็นต้องหาทีมงาน จึงไปชวน ซี-ภารดร พงค์สวัสดิ์, ยิบ-มูฮิมหมัด แก้วสลำ, กอน-ฟุรกอน สาดีน, อาหมัด-อะหมัด แก้วสลำ และ มุค-อับดุลมุคนี ขุนรักษ์ เข้ามาร่วมด้วย

แท้แล้วรากเหง้าเราคือใคร?

สำหรับ โครงการศึกษาประวัติศาสตร์ตำบลเกตรีเพื่อการดำรงอยู่รวมกันของผู้คนในตำบลเกตรี อำเภอเมือง จังหวัดสตูล เกิดขึ้นจากความสงสัยในชื่อตำบลที่ตนอาศัยอยู่ของกลุ่มเยาวชนจากสภาเด็กและเยาวชนตำบลเกตรี ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายๆ เรื่องที่พวกเขาอยากทำ อาทิ การทำผ้ามัดย้อม การทำแผนที่ชุมชนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว แต่หลังจากที่สมาชิกทีมโหวตเลือกว่าจะทำหัวข้อแผนที่ชุมชน แผนก็มีอันสะดุด เมื่อทุกคนพบว่าตนเองไม่มีความรู้เพียงพอที่จะทำแผนที่ได้

“เราเลือกทำแผนที่ แต่ก็พบว่าเราขาดความรู้เกี่ยวกับตำบลของตัวเองครับ เราไม่รู้ว่าบ้านเกิดเราเป็นมายังไง รากเหง้าของเราเป็นยังไง ความรู้มันมีอยู่ในชุมชน แต่เราก็ไม่มีกระบวนการที่จะไปหามัน “จากจุดเริ่มต้นตรงนั้น เรากลับมายังสิ่งที่ทุกคนสงสัยมานานตั้งแต่ก่อนที่จะทำโครงการคือ ทำไมบ้านเกตรีถึงชื่อบ้านเกตรี? อย่างนั้นเราทำเรื่องสืบค้นประวัติศาสตร์ของตำบลเกตรีดีไหม ทุกคนก็เห็นด้วยว่าอยากจะทำเรื่องนี้” อัพดอลอธิบายที่มาของโครงการ 

ช่วงแรกพวกเขาตั้งใจเก็บข้อมูลทุกอย่างทั้งที่มาของชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน ภูมิความรู้ต่างๆ แต่จากคำแนะนำของ บังหยาด -ประวิทย์ ลัดเลีย และ บังเชษฐ์-พิเชษฐ์ เบญจมาศ สองพี่เลี้ยงจากศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสตูล ก็ทำให้ทีมตัดสินใจเลือกโฟกัสแค่ประเด็นเดียวคือ ที่มาของชุมชน เพื่อให้การเก็บข้อมูลกระชับและชัดเจนขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์หลักอยู่ที่การเรียบเรียงข้อมูลเหล่านั้นเพื่อส่งต่อให้รุ่นน้องๆ ในชุมชนได้รับรู้รากเหง้าของตัวเอง

“อยากให้น้อง ๆ ได้รู้ประวัติศาสตร์บ้านเราว่ามีความเป็นมายังไงครับ เพราะว่าตอนที่พวกผมเป็นเด็กเหมือนน้องเขา พวกผมก็ไม่รู้เลยว่าเกตรีมีประวัติศาสตร์เป็นมายังไง เลยเห็นว่าถ้าน้อง ๆ ได้รู้ว่าบ้านเกิดของตัวเองมีความเป็นมายังไง เขาน่าจะรู้สึกรัก ภูมิใจ และหวงแหนในบ้านเกิดของตัวเองครับ” ถึงกระนั้นก็ตาม ไม่เพียงแค่น้อง ๆ เท่านั้นที่จะได้รู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ของชุมชน ในระหว่างการเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อส่งต่อให้น้องๆ สมาชิกในทีมทุกคน รวมทั้งพี่ ๆ ที่ออกไปเรียนหนังสือก็ได้รู้เรื่องราวและประวัติศาสตร์ของชุมชนไปด้วยเช่นเดียวกัน


วางขอบเขต ตะลุยเก็บข้อมูล

ทีมเริ่มเก็บข้อมูลโดยใช้หลัก 3R ที่ได้รับการอบรมจากพี่ ๆ โครงการกลไกชุมชนเพื่อพัฒนาเยาวชนจังหวัดสตูล เริ่มตั้งแต่การค้นคว้าข้อมูลทั่วไปของชุมชน เช่น ที่ตั้งหมู่บ้าน จำนวนประชากร ลักษณะพื้นที่ ฯลฯ โดยใช้ฐานข้อมูลจาก อบต.เกตรี (R1) ข้อมูลความเป็นมาชุมชน ซึ่งทีมเน้นไปที่ความเป็นมาของชื่อหมู่บ้าน ลงพื้นที่ไปสอบถามจากผู้เฒ่าผู้แก่ที่อายุ 60 ปีขึ้นไป ข้อมูลตำนานชุมชน และ ข้อมูลสถานที่ ซึ่งเน้นมัสยิดเป็นสำคัญ เพราะเป็นศูนย์รวมของชุมชน โดยเก็บข้อมูลเรื่องวันก่อตั้ง ประวัติ และรายนามอิหม่าม (R2)

“เราแยกกลุ่มข้อมูลไว้ครับ คือ ความเป็นมา ตำนาน และสถานที่ เพราะถ้าไม่แยกกันมันจะยุ่งเหยิง แต่ถ้าแยกเราจะเห็นเป้าชัดว่าเราต้องทำอะไร ส่วนความเป็นมากับตำนาน เราเลือกไปสัมภาษณ์คนเฒ่าคนแก่ ให้เขาเล่าความเป็นมาของตำบลทั้งหมดให้ฟัง ซึ่งข้อมูลอาจเพี้ยนๆ บ้าง เพราะแต่ละคนจะเล่าไม่เหมือนกัน เราก็ใช้หลักสถิติ ยึดตามที่คนส่วนใหญ่พูดเป็นหลัก ส่วนข้อมูลสถานที่ที่เป็นมัสยิด พวกผมหาจากเอกสารครับ” อัพดอลเล่ากระบวนการทำงานของทีม เมื่อเก็บข้อมูลแล้วเสร็จ และเรียบเรียงเสร็จแล้ว ทีมก็จัดเวทีชำระประวัติศาสตร์ชุมชนขึ้น“เปิดเวทีเชิญคนเฒ่าคนแก่ที่พวกผมไปสัมภาษณ์ ทั้งโต๊ะอิหม่าม ผู้ใหญ่บ้าน ผู้รู้เรื่องประวัติศาสตร์ตำบลเกตรีมานั่งรวมกัน จากนั้นจึงนำเสนอ

  • R1 ค้นคว้าข้อมูลที่มีอยู่แล้วทั่วไป เช่น จากอินเทอร์เน็ต หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรวบรวม ทำความเข้าใจ
  • R2 ศึกษาข้อมูลเชิงลึก ที่ต้องการรู้เพิ่ม ลงรายละเอียด จากการสัมภาษณ์
  • R3 นำข้อมูลจาก R1 และ R2 มาวิเคราะห์ ทิศทางที่จะไป และออกแบบปฏิบัติการของโครงการ

ข้อมูลว่าที่ทำมานั้นถูกต้องไหม ต้องแก้ไขเพิ่มเติมตรงไหนหรือเปล่า ซึ่งก็มีทั้งส่วนที่ตรงและที่เราต้องไปหาเพิ่ม” หลังชำระและเก็บข้อมูลแล้วเสร็จ ทีมก็รวมพลังกันเรียบเรียงข้อมูลทั้งหมดออกมาในรูปของหนังสือประวัติศาสตร์ประจำโรงเรียน เพื่อเก็บเป็นฐานข้อมูลชุมชนและให้น้องๆ ได้ใช้ศึกษา ซึ่งในอนาคตทีมจะพัฒนาเป็นรูปแบบการ์ตูน เพื่อให้น้องๆ เข้าถึงได้ง่ายขึ้น รวมถึงแผนที่ชุมชนผืนใหญ่ ที่ทีมออกแบบและวาดกันเอง และได้นำไปแสดงประกอบการนำเสนอผลงานมาแล้วหลายที่ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ค่ายเผยแพร่ประวัติศาสตร์


ค่ายสอนน้อง กระบวนการสอนตน

หนังสือประวัติศาสตร์ชุมชนคือเครื่องมือถ่ายทอดความรู้ในระยะยาว แต่ในระยะสั้น ทีมเลือกที่จะจัดค่ายเผยแพร่ประวัติศาสตร์ชุมชนเพื่อเผยแพร่ความรู้ให้แก่น้องๆ ในชุมชนไปพร้อมไปกับอบรมการทำสื่อไปด้วยในตัว

“เราเปิดให้น้อง ๆ ม.ต้น จำนวน 15 คนมาอบรมทำสื่อควบคู่กับการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ไปด้วย ซึ่งจะมีพี่ ๆ มาสอนวิธีการถ่ายและตัดต่อวิดีโอ ส่วนเรื่องประวัติความเป็นมาของเกตรี พวกผมจะพาน้อง Walk Rally ไปตามบ้านผู้รู้ ซึ่งมี 3 ฐาน คือ ฐานความเป็นมา ตำนาน และสถานที่ น้องไปทำสื่อตามบ้านน้องก็จะได้ความรู้ แล้วก็ได้สื่อที่เก็บได้นาน สามารถเผยแพร่ให้คนอื่นได้ง่ายด้วย” อัพดอล พี่ใหญ่ของทีมอธิบายวิธีการอบรมน้อง ๆ กลุ่มเป้าหมายให้เข้าประวัติชุมชนตัวเอง 

กิจกรรมว่าน่าสนใจแล้ว แต่ที่น่าสนใจกว่าคือ กิจกรรมครั้งนี้เป็นการจัดค่ายครั้งแรกของทีม แต่ด้วยคำแนะนำที่ดีจากที่ปรึกษาและพี่เลี้ยงโครงการฯ ทำให้ทีมมีกระบวนการทำงานที่ค่อนข้างชัดเจน โดยเฉพาะการแบ่งบทบาทหน้าที่ ได้แก่ กอนและอาหมัดอยู่ฝ่ายสันทนาการ ซีอยู่ฝ่ายสถานที่ ยิบอยู่ฝ่ายอุปกรณ์ มีฝ่ายสวัสดิการ ฝ่ายโสตฯ ขณะที่อับดอล และมุคอยู่ฝ่ายวิชาการ ซึ่งถือเป็นงานที่ท้าทายมากสำหรับมุค

“ผมต้องทำไฟล์นำเสนอเกี่ยวกับความเป็นมา ตำนาน สถานที่ และเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ เอาจริงๆ ตอนแรกผมอยากอยู่สันทนาการ แต่เพื่อนให้มาเป็นฝ่ายวิชาการ แต่ก็ได้หมด เพราะคิดว่าอะไรที่ไม่เคยก็ต้องลองดู” มุคบอก

“เราประชุมกันเพื่อวางลำดับ วางโครงของค่ายไว้ แล้วค่อยมาลงรายละเอียดกันว่ามีอะไรบ้าง ใครต้องทำอะไร มีกี่เกม แต่ละเกมต้องทำยังไง ทุกฝ่ายต้องรู้เหมือนกันหมดทุกเรื่อง เพื่อที่จะได้เห็นภาพและเป้าหมายเหมือนกัน เป้าหมายของค่ายนี้คือความสนุก ความรู้เป็นเรื่องรองลงมา คือทำยังไงก็ได้ให้มันสนุก (หัวเราะ) ให้มันพิเศษ เพราะถ้าไม่พิเศษมันจะกร่อย ไม่น่าจดจำ ค่ายมันต้องเป็นอะไรที่น่าจดจำของคน” อัพดอลชี้ให้เห็นเป้าหมายของการจัดค่ายและยิ่งน่าสนใจไปใหญ่ เมื่อทีมบอกถึงแผนการขั้นต่อไป ที่จะยกระดับความรู้สู่หลักสูตรในโรงเรียน

“หลังจากนี้ พวกผมจะไปเสนอให้โรงเรียนนำหลักสูตรประวัติศาสตร์ของตำบลเกตรีไปสอนน้อง ๆ ในโรงเรียน เพราะว่าตอนที่ผมเรียนไม่มีการสอนประวัติศาสตร์บ้านตัวเองเลย จึงอยากนำแผนนี้ไปเสนอให้กับโรงเรียนบ้านเกตรี และขยายไปโรงเรียนบ้านวังเพนียดต่อไป” อัพดอลยังบอกอีกว่า “ถ้าไม่มีคนสอน พวกผมก็จะไปสอนเองครับ” 


ทุกสิ่งล้วนเติบโตได้ดี ถ้ามีราก

ไม่ใช่เฉพาะความพยายามที่จะผลักดันหลักสูตรประวัติศาสตร์ท้องถิ่นตำบลเกตรีเข้าสู่โรงเรียน โครงการนี้ นับเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ทำให้เกิดความตื่นตัวเรื่องประวัติศาสตร์ชุมชนของคนเกตรี ทั้งผู้ใหญ่และเยาวชนที่ได้เข้ามาร่วมในกิจกรรมของโครงการ ซึ่งน่าจะสามารถต่อยอดโครงการขึ้นไปได้อีกในหลายระดับ ดังที่ทีมกล่าวไปข้างต้นว่า นอกจากโครงการแล้ว สิ่งที่ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างยิ่งก็คือ การที่สมาชิกในทีมได้พัฒนาตัวเองผ่านกระบวนการทำโครงการ

“การทำโครงการช่วยพัฒนากระบวนการคิดของพวกเราให้เป็นลำดับขั้นตอนมากขึ้น อย่างตัวผมเอง เมื่อก่อนจะเป็นคนขวางโลก (ยิ้ม) ชอบคิดต่าง ชอบขัดคนอื่นแบบไม่มีเหตุผล ขัดด้วยอารมณ์อยากเอาชนะ เช่น การจัดค่าย มีคนบอกว่าทำค่ายไม่ทันหรอก ผมก็ขัดว่าทัน! คือคิดแบบเด็ก ๆ แต่พอเราได้เรียนรู้เรื่องการวางแผน การออกแบบกระบวนการ มันก็ทำให้เราเห็นงาน ทำให้เรารู้ว่ามันไม่ทันจริง ๆ (หัวเราะ)” 

และที่อัพดอลเรียนรู้ไม่เพียงเรื่องกระบวนการทำงาน แต่สิ่งที่เขาได้เพิ่มเติมคือ “ความกล้า” ซึ่ง ความกล้านี้เองที่จะเป็นกุญแจเปิดประตูไปสู่การยกระดับการทำงานอีกหลาย ๆ เรื่อง

“โครงการทำให้ผมเป็นคนกล้าแสดงออกมากขึ้นครับ เมื่อก่อนเป็นคนที่อยู่แต่ในบ้าน อยู่บ้านเฉย ๆ ไม่ทำอะไรเลย การมาเข้าสภาเด็กฯ และการได้ทำโครงการทำให้เราเปลี่ยนแปลง กล้าแสดงออก กล้าคุยกับคนอื่น และยิ่งตอนเขียนโครงการต่อยมวย ผมเป็นคนเขียนโครงการเองก็ต้องเป็นคำเสนอ” อัพดอลเพิ่มเติม

เช่นเดียวกับ อาหมัดที่การทำโครงการช่วยดึงเขาออกมาจากโลกของเกม

“แต่ก่อนเป็นนักเลงคีย์บอร์ดครับ เลิกเรียนก็ไปอยู่ร้านเกมจาก 4 โมงเย็นถึง 6 โมงครึ่ง กลับบ้านไปกินข้าวอาบน้ำ แล้วก็ไปอยู่ร้านเกมอีก 1 ทุ่มถึง 3 ทุ่ม วันไหนโรงเรียนหยุดก็อยู่ร้านเกมทั้งวัน ไม่ไปไหนเลย สวมหูฟัง มือจับแป้นพิมพ์ ไม่ได้คุยกับใคร เล่นเกมอย่างเดียว จนได้มาทำโครงการ ก็เปลี่ยนจากเกมหน้าคอมมาเป็นเกมสันทนาการ ได้ความสัมพันธ์กับเพื่อนครับ”

นั่นคือส่วนหนึ่งของพัฒนาการที่เกิดขึ้นกับสมาชิกในทีม อันเกิดจากการได้ลงมือทำโครงการด้วยความมานะพยายาม แต่อีกสิ่งหนึ่งที่เชื่อได้ว่าจะเป็นแรงผลักดันให้พวกเขาเติบโตและสร้างสรรค์สิ่งดีงามให้แก่ชุมชนบ้านเกิดได้อีกมากในอนาคต ก็คือ ต้นทุนของการได้รู้จักรากเหง้าของตนเอง

เด็กๆ เริ่มต้นมาจากศูนย์ ไม่มีข้อมูลประวัติศาสตร์ชุมชน แต่พวกเขาสามารถสร้างขึ้นมาและยังทำให้คนอื่นได้รับรู้ด้วยว่า ความเป็นมาของเกตรีเป็นอย่างไร ทั้งหมดมันเกิดกับแกนนำรุ่นแรก 5 คนที่เขาไม่เคยทิ้งน้องๆ จากนั้นคนที่เหลือก็ช่วยกันสานต่อจนเสร็จ และสิ่งที่ชุมชนได้รับไม่ใช่ประวัติศาสตร์ชุมชนตำบลเกตรีฉบับสภาเด็กและเยาวชนเท่านั้น พวกเขายังได้ ‘คนรุ่นใหม่’ ที่มีความรัก หวงแหน และผูกพันกับชุมชนเพิ่มขึ้นอีกนับสิบคน

และเชื่อเหลือเกินว่าด้วยพลังของคนหนุ่มเหล่านี้ จะช่วยพัฒนาบ้านเกิดของพวกเขาได้ต่อไป ด้วยต้นทุนของพลังสร้างสรรค์ที่เบ่งบานขึ้นมาจากรากเหง้าที่พวกเขาได้เรียนรู้ในวันนี้อย่างแน่นอน


โครงการ : ศึกษาประวัติศาสตร์ตำบลเกตรีเพื่อการดำรงอยู่ร่วมกันของผู้คนในตำบลเกตรี

พี่เลี้ยงโครงการ :

ทีมงาน :

  • อัพดอล พงศ์สวัสดิ์ 
  • ภารดร พงค์สวัสดิ์
  • มูฮิมหมัด แก้วสลำ 
  • ฟุรกอน สาดีน 
  • อะหมัด แก้วสลำ 
  •  อับดุลมุคนี ขุนรักษ์